Translate

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

อาถรรพ์ภาพวาดเด็กร้องไห้

                                               
   อาถรรพ์ภาพวาดเด็กร้องไห้แทบไม่น่าเชื่อว่าสมัยนี้ยังมีคนที่เชื่อเรื่องคำสาปกันอยู่ และยิ่งไม่น่าเชื่อไปกันใหญ่ เมื่อคนที่เชื่อเรื่องเหล่านั้นเป็นพวกฝรั่ง

  เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1985 เมื่อหนังสือพิมพ์ "เดอะซัน" หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของอังกฤษ ได้ลงบทความที่พาดหัวเรื่องว่า "คำสาปให้เพลิงไหม้ของเด็กร้องไห้"

เนื้อหามีอยู่ว่า รอน และ เมย์ ฮอลล์ โทษว่าภาพพิมพ์ราคาถูกรูปเด็กน้ำตาไหลอาบแก้ม เป็นเหตุให้ไปไหม้บ้านอาคารสงเคราะห์ในเมืองร็อธเธอแรม ที่พวกเขาอยู่มา 27 ปีแล้ว ซึ่งมีต้นเพลิงเกิดที่กระทะทอดมันฝรั่งในครัว แล้วลุกลามอย่างรวดเร็ว สิ่งที่น่าแปลกคือ แม้ชั้นล่างจะเสียหายอย่างมาก แต่ภาพเด็กร้องไห้กลับไม่เป็นอะไร ไม่มีแม้แต่รอยขีดข่วน มันยังคงแขวนอยู่ที่เดิมท่ามกลางซากของความเสียหายที่เห็นอยู่โดยรอบ.  ปกติข่าวไฟไหม้ธรรมดาเช่นนี้จะลงได้แค่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเท่านั้น แต่เรื่องนี้ปรากฏในหนังสือพิมพ์ชั้นนำได้เนื่องจาก ปีเตอร์ น้องชายของ รอน ฮอลล์ เป็นพนักงานดับเพลิง และแจ้งว่า เขารู้มาว่ามีรายอื่นอีกหลายรายทีเดียว ที่ปรากฏว่าบ้านถูกไฟไหม้เสียหายหนัก แต่ภาพพิมพ์ "เด็กร้องไห้" กลับไม่เป็นอะไรเลย

เดอะซันได้ลงภาพ "เด็กร้องไห้" พร้อมกับคำบรรยายใต้ภาพว่า "น้ำตาสำหรับความกลัว... ภาพที่พนักงานดับเพลิงอ้างว่าถูกสาป" (ความจริงพนักงานดับเพลิงไม่ได้ใช้คำว่าถูกสาป) แต่ไม่ว่าจะอย่างไรรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ช่วยให้เรื่องนี้น่าเชื่อถือไปแล้วระดับหนึ่ง

เดอะซันยังบอกอีกด้วยว่า ภาพพิมพ์เด็กร้องไห้ที่ลงชื่อจิตรกร จี บราโกลิน นี้วางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าของอังกฤษ โดยเฉพาะแถบย่านคนงานทางภาคเหนือ ประมาณว่ามากถึง 50,000 ภาพ และสามารถดูตัวอย่างได้จากที่แขวนไว้ตามห้องนั่งเล่นในบ้านที่มีครอบครัวแล้ว

พอถึงวันที่ 5 กันยายน เดอะซัน ก็ลงรายงานข่าวต่อว่า "ได้รับโทรศัพท์จนสายแทบไม่ว่าง จากบรรดาท่านผู้อ่านที่อ้างตัวว่าตกเป็นเหยื่อของคำสาปของเด็กร้องไห้... พวกเขาต่างกลัวว่าจะเคราะห์ร้ายเพราะมีภาพพิมพ์เด็กที่มีน้ำตาแอบแก้มอยู่ในบ้านของพวกเขา"

หนังสือพิมพ์ใช้คำว่า "คำสาป, เคราะห์ร้าย, น่ากลัว, อาถรรพ์ ฯลฯ" เพื่อให้เชื่อมโยงกับเรื่องเหนือธรรมชาติที่ผู้อ่านมักจะเชื่อตามอยู่แล้ว

ไม่เพียงแค่นี้ ผู้อ่านที่ชื่อ โดร่า แมนน์ จากมิทแชม เชอเรย์ บอกว่า บ้านเธอถูกไฟไหม้หลังจากซื้อภาพพิมพ์นั่นมาได้แค่หกเดือนเท่านั้น เธอบอกอีกด้วยว่า "ภาพทั้งหมดของดิฉันถูกทำลายหมด ยกเว้นภาพเด็กร้องไห้ภาพเดียว

แซนดร้า เคสก์ แห่งคิวเบิร์น ยอร์คเชียร์เหนือ บอกว่า น้องสะใภ้และเพื่อนอีกคนต่างได้รับความเดือดร้อนจากไฟไหม้หลังจากที่พวกเธอได้ภาพพวกนั้นมา

อีกครอบครัวหนึ่งจากนอตติ้งแฮมโทษภาพพิมพ์ว่า ภาพเป็นต้นเหตุให้เพลิงไหม้ ทำให้พวกเขาต้องไร้บ้าน ไบรอัน ปาร์คส์ ที่เมียและลูกทั้งสามต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะสำลักควัน พบว่าภาพเด็กร้องไห้ไม่เป็นอะไรเลย มันยังคงแขวนอยู่ที่ผนังห้องนั่งเล่นที่ไหม้ไปจนดำ เขาจึงต้องทำลายมันทิ้ง



มีเรื่องรายงานเข้ามาเรื่อย ๆ พร้อมกับรายละเอียดใหม่ ๆ ที่สนันสนุนความคิดที่ว่า การครอบครองภาพเด็กร้องไห้เหล่านั้นทำให้ผู้เป็นเจ้าของต้องเสี่ยงกับเหตุการณ์ไฟไหม้ หรือบาดเจ็บสาหัส

สตรีผู้หนึ่งจากลอนดอนกล่าวว่า เธอเห็นภาพของเธอ "แกว่งไปมา" บนผนัง ส่วนอีกนางหนึ่งจากเพนตันบอกว่า บุตรชายวัย 11 ปี ของเธอ ถูกขอเกี่ยวไอ้จู๋ หลังจากเธอซื้อภาพนี้มา นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ยังได้ลงข่างจดหมายของนางโรส ฟาร์ริงตัน ที่ส่งมาจากเมืองเพลสตัน เล่าว่า "นับแต่ดิฉันซื้อมันมาเมื่อปี 1959 ลูกชายของฉันสามคนและสามีของดิฉันได้เสียชีวิตกันไปหมด ดิฉันมักจะสงสัยว่า หรือมันมีคำสาป"

อีกคนเล่าว่า เธอพยายามทำลายภาพพิมพ์สองภาพโดยเอาไปเผาไฟ แต่ก็ต้องตกใจเมื่อมันไม่ไหม้ ปอล คอลเลียร์ พนักกงานรักษาความปลอดภัยได้ลองพิสูจน์สิ่งที่บอกดู โดยการโยนภาพที่เขามีภาพหนึ่งเข้าไปในกองไฟ ทิ้งไว้นานเป็นชั่วโมง แต่มันไม่มีแม้แต่รอยถูกไฟเลีย เขาบอกเดอะซันว่า "มันน่ากลัวจริง ๆ ไฟไม่อาจแตะต้องมันได้ ผมเชื่อจริง ๆ ว่ามันต้องมีอาถรรพ์ ผมรู้สึกเสี่ยงเป็น 2 เท่า เพราะมีมันถึงสองรูป ก็เลยตัดสินใจกำจัดมันทิ้ง"
                                                    
          เรื่องของคอลเลียร์ทำให้นึกถึงสิ่งที่พนักงานดับเพลิงบอกว่า หลังจากที่ไฟไหม้บ้านจนวอดวาย สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือภาพวาดเด็กร้องไห้เสมอ มันน่าแปลกจริง ๆ ที่ภาพนี้ไม่ไหม้ไฟ หากมันเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟไหม้ แต่จากการสอบสวนส่วนใหญ่ เหตุที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้มักจะเป็นความสะเพร่าของเจ้าของบ้าน เช่น การทิ้งก้นบุหรี่ ปล่อยให้กระทะร้อนเกินไป หรือเครื่องทำความร้อนสำรุด

อลัน วิลกินสัน หัวหน้าสถานีดับเพลิงร็อธเธอแรม ค้นรายละเอียดจากบันทึกไฟไหม้ พบว่าไฟไหม้ที่เกี่ยวกับรูปเด็กร้องไห้ ย้อนไปจนถึงปี 1973 มีมากถึง 50 ราย แต่ไม่พบว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทของคนแทบทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าอย่างไร เขาก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ภาพวาดนั้นรอดจากเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างไร

จากนั้นไม่นานก็พบว่าภาพที่มีคำสาปนี้ ไม่ใช่ภาพเดียวกันทั้งหมด อีกทั้งไม่ได้วาดโดยจิตรกรคนเดียวกันด้วย มีหลายภาพ หลายคนวาด ส่วนภาพที่ได้เป็นข่าวนั้น เป็นภาพของจิตรกรที่เซ็นชื่อไว้ใต้ภาพว่า จีโอ วานนี่ บราโกลิน ซึ่งเป็นนามแฝงของ บรูโน อามาดิโอ นอกจากนี้ยังมีภาพของแอนนา ซิงไกเซน จิตรกรชาวสก็อตที่เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 1976 ภาพพวกนี้เป็นภาพพิมพ์ราคาถูกที่วางขายตามห้างสรรพสินค้าของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1960-70 ไม่ใช่ผลงานที่ดีเด่นอะไร แต่ก็เป็นที่นิยมของหมู่คนงานสตรี แม้จะมีข่าวที่น่ากลัว แต่หลายคนก็ยังคงผูกพันกับภาพเสียจนปฏิเสธที่จะทำลายทิ้ง

ผู้อ่านเดอะซันหลายคนเริ่มสงสัยเกี่ยวกับภาพวาดเด็กร้องไห้ ทำไมคนถึงอยากได้ภาพวาดเด็กร้องไห้ แล้วทำไมเด็กถึงต้องร้องไห้ ? หนังสือพิมพ์เดอะซันจึงต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านตำนานพื้นเมืองและไสยศาสตร์มาช่วยอธิบาย รอย วิคเกอรี่ จากสมาคมคติชาวบ้านให้ความเห็นว่า จิตรกรที่วาดภาพนี้อาจจะเคยปฏิบัติไม่ดีบางอย่างกับเด็กที่เป็นแบบ และเพลิงไหม้พวกนี้อาจเกิดจากคำสาปของเด็กก็ได้

เมื่อมีคนกังวลกับเรื่องนี้มากขึ้น หน่วยดับเพลิงเซาท์ยอร์คเชียร์จึงออกหนังสือชี้แจงเพื่อให้ผู้คนเลิกเชื่อเกี่ยวกับคำสาปทั้งหลาย โดยมีเนื้อความว่า เหตุเพลิงไหม้ทั้งหมดเกิดจากความประมาททั้งสิ้น มิค ไรเลย์ หัวหน้าหน่วยดับเพลิงกล่าวว่า เหตุที่ภาพพิมพ์ดังกล่าวไม่ค่อยไหม้ไฟ เพราะถูกพิมพ์ลงในกระดาษแข็งที่มีเนื้อหนา มีความหนาแน่นสูง และติดไฟได้ยากมาก นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า การที่ภาพพิมพ์ถูกขายออกไปเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสได้มากที่จะถูกพบอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุเพลิงไหม้



หนังสือของหน่วยดับเพลิงไม่ได้คลายความกังวลของผู้คนเลย แม็ค เคนซี บรรณาธิการของเดอะซันจึงบอกว่า "ถ้าคุณกังวลเกี่ยวกับภาพเด็กร้องไห้ ก็ส่งมันมาให้เรา เราจะกำจัดมันให้คุณ คำสาปจะได้หมดไปเสียที" ปรากฏว่าไม่กี่วันต่อมา เดอะซันก็มีภาพเด็กร้องไห้กองเป็นภูเขา จนต้องใช้รถแวนสองคันขนไปเผาในวันฮาโลวีล และลงฟาดหัวข่าวว่า "เดอะซัน ตอกฝาโลงฝังคำสาปเด็กร้องไห้ตลอดไป"

คำสาปของผีร้ายหมดไปหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่เมื่อสื่อเลิกให้ความสนใจ เรื่องคำสาปเด็กร้องไห้ก็เปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคตามสมัย บ้างก็ว่า ถ้าใครทำดีกับรูปเด็กร้องไห้ ก็จะได้รับโชคดี เช่น ถ้าติดภาพเด็กชายร้องไห้ คู่กับเด็กหญิงร้องไห้ ก็จะได้รับโชคดี เป็นต้น



ต่อมาเมื่อมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย เรื่องนี้จึงกระจายออกไปทั่วโลกอย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่แค่ในอังกฤษอีกต่อไป และในระหว่างศตวรรษที่ 1990 เริ่มมีรายงานเรื่องไฟไหม้เพราะภาพเด็กร้องไห้จากส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย เรื่องราวเดิม ๆ ก็ถูกพวกนักเล่านิทาน และนักสืบสวนเรื่องเหนือธรรมชาติพากันเติมแต่งสีสันให้น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น เช่น คนทรงคนหนึ่งอ้างว่า วิญญาณของเด็กเข้ามาติดอยู่ในภาพ และทางเดียวที่จะเป็นอิสระได้ คือการพยายามทำให้ไฟไหม้ภาพนั้นเสียเพื่อปลดปล่อยตนเอง

ความเห็นที่ว่าจิตรกรทำไม่ได้กับเด็ก ถูกนำกลับมาเล่าใหม่(โดยไม่สนใจว่าภาพนั้นมาจากจิตรกรหลายคน) ทอม สเลเมน นำมาเขียนปรับปรุง และตีพิมพ์ในหนังสือชุด Haunted Liverpool ของเขา (ซึ่งเป็นหนังสือเล่าเรื่องสนุก ๆ ไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา) เขาอธิบายเหตุผลที่ทำให้ภาพนี้เป็นตัวนำโชคร้ายว่า เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย นักค้นคว้าเรื่องไสยศาสตร์ผู้ได้รับการเชื่อถือมากคนหนึ่งชื่อ จอร์จ มัลลอรี

เมื่อปี 1995 มัลลอรี ได้แกะรอยคนวาดภาพจนเจอ เป็นจิตรกรชาวสเปนชื่อ ฟรานโชต เซบีเย อยู่ที่กรุงมาดริด (เซบีเย เป็นนามแฝงอีกอันหนึ่งของบรูโน อามาดิโอ ซึ่งมีนามแฝงอีกว่า จี บราโกลิน) ซึ่งจิตรกรได้เล่าให้มัลลอรีฟังว่า เด็กในภาพเป็นเด็กข้างถนนที่เขาพบเดินอยู่ในกรุงมาดริดปี 1969 มีนัยน์ตาเศร้า และไม่พูดจากับใคร เขาจึงวาดภาพเด็กคนนี้ไว้ และมีพระคาทอลิคคนหนึ่งจำได้ว่าเด็กคนนี้คือ ดอน โบนีโย ที่หนีออกจากบ้านหลังจากที่เห็นพ่อแม่ตายในไฟ พระบอกจิตรกรว่าอย่าได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเด็กคนนี้ เพราะไม่ว่าเขาจะไปแยู่ที่ไหน ก็จะเกิดเหตุไฟไหม้ที่นั่น จนชาวบ้านเรียกเขาว่า "เด็กปีศาจ"

แต่จิตรกรไม่เชื่อคำของพระ เขารับอุปถัมภ์เด็ก เพราะภาพเขียนของเขาขายดีมาก แต่แล้วต่อมาไฟก็ไหม้สตูดิโอของเขา จิตรกรผู้นี้สิ้นเนื้อประดาตัว และโทษว่าเด็กเป็นคนวางเพลิง เด็กจึงหนีไปอีก และนับตั้งแต่มีรายงานจากทั่วทุกมุมโลกว่าภาพวาดของเขาเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ เซบีเยก็ถูกหาว่าเป็นตัวเสนียด และไม่มีใครจ้างให้เขาวาดภาพอีกเลย



ต่อมาในปี 1976 รถยนต์คันหนึ่งสิ่งเข้าชนกำแพงเมืองบาร์เซโลนา และระเบิดไฟลุกท่วม คนขับรถถูกไฟครอกตาย ดำปี๋จนจำไม่ได้ แต่จากใบขับขี่บางส่วนของเขา ระบุว่าเขาชื่อ ดอน โบนีเย อายุ 19 ปี ...

แม้เรื่องของดอน โบนีเย นี้จะไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน และเรื่องของจอร์จ มัลลอรี นั่นก็เช่นกัน ดูจะเป็นบุรุษลึกลับเพราะไม่สามารถจะติดตามตัวมาสอบค้นได้ ไม่ทราบว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เรื่องนี้น่าเชื่อถือน้อยลงสำหรับผู้ที่ชอบฟังเรื่องลึกลับ และมักชอบคิดว่าบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นโดยสาเหตุเหนือธรรมชาติ

ตำนานเรื่องลึกลับทำนองนี้มักจะตายยาก เพราะเร็ว ๆ นี้ เมื่อปี 2007 หนังสือพิมพ์เชฟฟิลด์สตาร์ ได้ประกาศว่าคำสาปได้กลับมาอีกแล้ว ไฟได้ไหม้บ้านหลังหนึ่งที่เมืองร็อธเธอแรม เมืองเดียวกับที่ตำนานเริ่มขึ้น สแตน โจนส์ เจ้าของบ้านอ้างว่า นี่เป็นบ้านหลังล่าสุดหนึ่งในสามหลังที่ถูกไฟไหม้ แล้วทั้งสามหลังก็ล้วนมีภาพเด็กร้องไห้อยู่ในนั้น

โจนส์ เล่าว่าเขาซื้อภาพมาจากตลาดในราคาสองปอนด์ เมื่อสิบปีที่แล้ว และชอบมันมาก เขากับมีเชล โฮตัน เพื่อนสาวรอดตายจากไฟไหม้อย่างหวุดหวิด หลังจากที่นอนหลับไปโดยทิ้งอาหารค่ำค้างไว้บนเตา เขาตื่นมาตอนที่ได้ยินเสียงสัญญาณไฟไหม้ และพบว่าพนักงานดับเพลิงได้เข้าไปช่วยเพื่อนสาวที่หมดสติไปแล้วได้ทัน

หรือนี่จะแสดงว่าคำสาปเด็กร้องไห้ยังไม่ได้หายไปไหน และยังคงกำลังมองหาเหยื่อรายใหม่อยู่นั่นเอง ?

อ้างอิงจาก : http://www.fullhalloween.com

            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น